ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี บูรณาการศาสตร์ เปิดเกาะ ตกหมึก สร้างเส้นทางท่องเที่ยวที่พะลวย ชู Model : SMART Success Model at Phaluai

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้า โรบินสัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) พร้อมด้วย ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์และเครือข่ายสังคม อาจารย์เกสสิณี ตรีพงศ์พันธุ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว นายสมชาย เสมมณี สํานักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายณัฐนวรรธ ศักดา นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายนัฐวุฒิ ศรีอาวุธ ที่ปรึกษาและตัวแทนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนเกาะ ร่วมแถลงข่าวโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเกาะพะลวยด้วยการจัดอีเวนท์และเทศกาล (Promoting Tourism Event & Festival at Palui) เพื่อร่วมบูรณาการด้านการท่องเที่ยวผสมผสานกับศาสตร์อื่น ๆ ภายใต้ความเป็นเอกลักษณ์ของ Green Island ที่มาพร้อมโมเดล SMART Success Model at Phaluai 

ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานด้านการพัฒนาท้องถิ่น ได้ดำเนินงานพัฒนาพื้นที่เกาะพะลวย ตามโครงการพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาท้องถิ่น โดยการชี้เป้าหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้พื้นที่เกาะพะลวย เป็นหนึ่งในพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 มาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักตามโครงการพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อยกระดับและพัฒนามิติด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม โดยการบูรณาการองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยไปพัฒนาท้องถิ่น ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อาจารย์เกสสิณี ตรีพงศ์พันธุ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว

ด้านอาจารย์เกสสิณี ตรีพงศ์พันธุ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเกาะพะลวยด้วยการจัดอีเวนท์และเทศกาล กล่าวว่า เกาะพะลวยมีเสน่ห์สามารถดึงดูดให้ทีมงานทำงานอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 5 ปี กับการดำเนินงานจากวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยวจากเส้นทางท่องเที่ยวในทะเลมาอยู่บนเกาะ จากบนเกาะขยายเป็นกิจกรรมการมีส่วนร่วมด้านที่พักแรม จากที่พักแรมขยายเป็นการต่อยอดด้านผลิตภัณฑ์ จากผลิตภัณฑ์ขยายสู่การจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน จากวิสาหกิจชุมชนจึงได้สร้างกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนกับการวิ่งแบบ Eco Slow Run และปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้สมาชิกเกิดรายได้เสริมอย่างต่อเนื่อง และมีสมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานทุกปีจะมีการสะท้อนคิด (Reflection) และสรุปผลผ่านการประชุมของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทำให้ศาสตร์อื่น ๆ มาช่วยกันยกระดับความเป็นอยู่ ของเกาะพะลวยให้ดีขึ้น ทั้งด้านการดูแลตนเองเบื้องต้นด้านสุขภาพ สอนการนวด “ท่านักรบ” ซึ่งเป็นท่านวดเฉพาะของเกาะพะลวย เป็นท่าที่ทำให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการเพื่อผ่อนคลายจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดจากการสกัดสาหร่ายข้อ นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักการลดต้นทุนการทำอาหารด้วยการทำก๊าซหุงต้มจากเศษอาหารทะเลรวมถึงการปลูกผักบนเกาะที่ใช้น้ำจืดน้อย ซึ่งทำให้ชาวเกาะพะลวยมีสุขภาพดีขึ้น มีความสุขในการอยู่บนเกาะ จากการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน อย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบเชิงบวกสู่การมองเห็นคุณค่าของเกาะพะลวย จึงทำให้บริษัทเอกชนสร้างท่าเรือเฟอร์รี่สำหรับการเดินเรือพาณิชย์ จากท่าเรืออำเภอดอนสักวิ่งตรงเกาะพะลวย 




“จากความร่วมมือที่กล่าวมาในข้างต้น จึงทำให้เกิดโมเดลเกาะพะลวย (SMART Success Model at Phaluai) ถือเป็นความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งมีความหมายในแต่ละตัวอักษรคือ S ย่อมาจาก Smile มักจะมีรอยยิ้มให้กันเสมอ M ย่อมาจาก Mind คือ การให้บริการจากจิตใจที่ดี มีใจในการพัฒนา A ย่อมาจาก Achievement คือ ความสำเร็จตามเป้าหมายทุกปี R ย่อมาจาก Real การทำงานบนพื้นฐานความจริง และ T ย่อมาจาก Touch การสัมผัสทุกส่วนของเกาะพะลวย ทั้งการรับรู้ ได้เห็น ได้ยิน รู้สึก และได้ลิ้มรสชาติความอร่อยของอาหารทะเลที่สดใหม่” อาจารย์เกสสินี กล่าวในที่สุด
.
หากมีท่องเที่ยวสนใจเดินทางท่องเที่ยวที่เกาะพะลวยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี หรือเพจเฟสบุ๊ค วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนเกาะพะลวย


----------------------------------------------
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว

ไทยทราเวลเพรส NEWS

สำนักงาน ไทยทราเวลเพรส THAI TRAVEL PRESS ------- สื่อมวลชนการท่องเที่ยวไทย THAI TOURISM NEWS 📧📨 thaitravelpress@gmail.com

แสดงความคิดเห็น

สำนักงานไทยทราเวลเพรส THAI TRAVEL PRESS

ใหม่กว่า เก่ากว่า

ค้นหาในเว็บ