วันที่ 25 - 27 เมษายน 2568 นางยุพิน บัวคอม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมด้วยนายรัชชสิทธิ์ มนตรี รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับพื้นที่นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นการขับเคลื่อนกลไกส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานในภาคใต้ และประชุมคณะทำงานกำกับทิศทางโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะประชากรวัยแรงงานนอกระบบ ครั้งที่ 2/2568 ระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายน 2568 ณ จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ความช่วยเหลือประชากรวัยแรงงานนอกระบบซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาหรือพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ สนองตอบนโยบายรัฐบาลการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำ (Learn to Earn) และการยกระดับความสามารถของคนไทย โดยเน้นการทำงานที่ใช้บริบทชุมชนเป็นฐานผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วน
ทัังนี้ นางยุพิน บัวคอม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมในประเด็น การส่งเสริมความร่วมมือโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะประชากรวัยแรงงานนอกระบบ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ว่า “กรมส่งเสริมการเรียนรู้มีภารกิจสำคัญในการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มักขาดโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดิฉันเห็นว่าเราควรขับเคลื่อนงานด้วยแนวคิด ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง’ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานสำคัญในการดำเนินงาน เราต้องเริ่มต้นจากการฟังเสียงของชุมชน สำรวจศักยภาพและความต้องการอย่างแท้จริง เพื่อนำมาพัฒนาเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ตรงกับชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้งการฝึกทักษะอาชีพใหม่ ๆ และทักษะที่เสริมโอกาสในการมีรายได้
ในส่วนของความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะร่วมกันขยายโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบางที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผ่านการสนับสนุนทุนการศึกษา การอบรมวิชาชีพ และการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับแนวโน้มตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ต้องมีความยืดหยุ่น เข้าถึงได้ง่าย และสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นทักษะดิจิทัล การทำการเกษตรสมัยใหม่ อาชีพด้านบริการ หรือทักษะด้าน soft skills เช่น การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานปัจจุบันและที่สำคัญ เราต้องมีระบบติดตามประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ว่าผู้เรียนมีทักษะเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ มีโอกาสในการมีงานทำและเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนความสำเร็จของโครงการได้อย่างแท้จริง
ดิฉันเชื่อว่า หากเราขับเคลื่อนงานด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ใช้ชุมชนเป็นฐาน และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เราจะสามารถสร้างโอกาสให้แรงงานนอกระบบได้เรียนรู้และมีอนาคตที่มั่นคงตามนโยบาย ‘Learn to Earn’ อย่างยั่งยืน ”
เจนกิจ นัดไธสง รายงาน