วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09:30 น. นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ มอบหมายให้นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายภัตติพงศ์ สุนทรวร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ให้การต้อนรับนางสาวจิตตินันท์ เรืองวีรยุทธ ผอ.กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและคณะผู้แทนจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าพบเพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการจัดการพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพฯ
.
การดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์ และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เครือข่ายนกอพยพปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี คือโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย(EAAFP) ประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนพื้นที่เครือข่ายนกอพยพ จำนวน ๓ แห่ง คือ ปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ปากทะเล - แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี และโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร
พื้นที่เครือข่ายนกอพยพปากแม่น้ำกระบี่ เป็นพื้นที่เครือข่ายนกอพยพแห่งแรกของประเทศไทย และมีใช้ประโยชน์จำนวนมากในพื้นที่ซึ่งต้องเกื้อกูลและพี่งพา
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ จึงต้องหาแนวทาง มาตรการจูงใจในการอนุรักษ์ฯ และกลไกทางการตลาดเพื่อต่อยอดหรือส่งเสริมมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากการเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indicationsหรือ GI รวมทั้งแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ โดยนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตการบริการ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า และเพิ่มรายได้จากเศรษฐกิจชีวภาพ และ วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแผนการดำเนินงานจัดการพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพฯ ณ ห้องประชุมโรงแรมริเวอร์ฟร้อนท์ จังหวัดกระบี่
นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา กล่าวว่าการเลือกจังหวัดกระบี่เป็นสิ่งที่ถูกแล้ว เพราะกระบี่มีต้นทุนสูงมาก มีทุกอย่างมารวมอยู่ที่นี่ นอกจากนกอพยพที่ปากน้ำแล้ว ยังมีนกบนเกาะ เช่น นกเงือก ค้างคาวแม่ไก่ นกอินทรีย์ทะเล ฯลฯ กระบี่มีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นแรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 1100 ของโลกเป็นเครือข่ายนกป่าชายเลน พื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายสูงนั้นแสดงถึงสภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสม และมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์มากกว่าพื้นที่ที่มีความหลากหลายน้อยกว่า ซึ่งป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์จะเป็นแหล่งอาศัยของนกได้ดีกว่าป่าชายเลนเสื่อมโทรมอย่างแน่นอน สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ หากคนพื้นที่ได้รับประโยชน์ เขาจะเกิดความภาคภูมิใจและจะช่วยกันปกป้องรักษาทรัพยากรไว้ให้เกิดดุลยภาพ อย่างยั่งยืน เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวในการพัฒนากลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์นกอพยพและใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน และอยากฝากให้ช่วยดูแลสนับสนุนโครงการอื่นๆด้วยโดยเฉพาะเรื่อง GI ขณะนี้กระบี่กำลังขอขึ้นทะเบียนหลายอย่าง เช่น ทุเรียนทะเลหอย กาแฟ ปลิงทะเล เหล่านี้เป็นต้น
Tags
นกอพยพ