ททท. จัดงานกิจกรรม “เย็นฉ่ำวิถีไทย รื่นเริงใจในเมืองเก่า 2022”
2 จังหวัด ส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทย พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวครึกครื้น
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรม “Songkran Music Heritage Festival 2022 เย็นฉ่ำวิถีไทย รื่นเริงใจในเมืองเก่า” 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ วัดพระราม ในวันที่ 12-21 เมษายน 2565 และ จังหวัดสงขลา ณ เมืองเก่า ในวันที่ 13-21 เมษายน ซึ่งทั้งสองแห่งจะจัดตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น. เพื่อส่งมอบความสุขรับปีใหม่ไทย พร้อมสืบสานประเพณี วัฒนธรรมไทย ทั้งยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) เปิดเผยว่า “การจัดกิจกรรมวันสงกรานต์เป็นกิจกรรมประเพณีที่มีการจัดขึ้นทุกปี แม้ช่วงนี้จะยังคงอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่รัฐบาลอนุญาตให้สามารถจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด โดยในปีนี้ทาง ททท.ได้จัดกิจกรรม “Songkran Music Heritage Festival 2022 เย็นฉ่ำวิถีไทย รื่นเริงใจในเมืองเก่า” โดยได้เลือกสถานที่จัดงานสงกรานต์ ขึ้น 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ วัดพระราม โดยทำพิธีเปิดงานในวันที่ 12 เมษายน และ จังหวัดสงขลา จัด ณ เมืองเก่า มีกำหนดพิธีเปิดงานในวันที่ 13 เมษายน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดกิจกรรม “Songkran Music Heritage Festival 2022 เย็นฉ่ำวิถีไทย รื่นเริงใจในเมืองเก่า” ทั้ง 2 จังหวัด ได้แบ่งกิจกรรมหลัก ๆ และไฮไลท์ที่น่าสนใจ โดยเน้นเอกลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดให้มีการจัดงานสืบสานประเพณี วัฒนธรรมไทย มีกิจกรรมและไฮไลท์สำคัญคือ ขบวนแห่เทพีสงกรานต์สุดอลังการ 12-14 เมษายน โดยในวันที่ 12 เมษายน นำทีมโดย เทพีปรางค์ กัญญารัตน์ วันที่ 13 เมษายน นำทีมโดย เทพีเดียร์น่า ฟลีโป วันที่ 14 เมษายน นำทีมโดย เทพีพิ้งกี้ สาวิกา พร้อมแสงสีเสียง ณ ศาลากลาง (เก่า) อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ และร่วมปักธงเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ การจัดกิจกรรมสาธิตงานหัตถกรรม สานปลาตะเพียน การใส่ชุดไทยเข้าร่วมงานสงกรานต์ การนำเสนอการแสดงดนตรีศิลปินชื่อดังของประเทศไทย ในวันที่ 12-14 เมษายน 2565 แก้ม เดอะสตาร์ , ป็อบ ปองกูล , ลุลา และ เปาวลี การนำเสนอการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โขน ระบำพื้นบ้าน การจัด Visual Idea Decoration จุดถ่ายภาพ โดยนำปลาตะเพียนมาเป็นตัวนำในการออกแบบ อาทิ ซุ้มอุโมงค์ตะเพียนใบลาน สัญลักษณ์แห่ง ความอุดม สมบูรณ์ โดยให้ผู้เข้าร่วมงานสานปลาตะเพียน และนำมาคล้องร่วมกันในบริเวณกำแพงอุโมงค์ โดยมีน้องชื่นใจ ปลาตะเพียน เป็นตัวเล่าเรื่อง การประดับไฟบริเวณโบราณสถานรอบ ๆ บริเวณพื้นที่จัดงาน ศาลหลักเมือง อุโมงค์น้ำ การออกร้านขายอาหารประจำถิ่นและสินค้าเด่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียง อีกด้วย
ในส่วนของจังหวัดสงขลา จัดให้มีการจัดงานสืบสานประเพณี วัฒนธรรมไทย โดยจัดกิจกรรมสรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย การจัดกิจกรรมสาธิตอาหารคาวหวาน อาทิ ยำสายเกาะยอ ข้าวยำปักษ์ใต้ ขนมไข่เตาถ่าน เต้าคั่วหรือสลัดทะเลสาบ การแต่งกายผ้าประจำถิ่นเข้าร่วมงาน อาทิ ปาเต๊ะ บาติก ตลอดถึงการแสดงดนตรีจากศิลปินชื่อดัง