หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จับมือ ททท. ลงนาม MOU ด้าน CE กับภาคีเครือข่ายจังหวัดกระบี่ เดินหน้าสานต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ของจังหวัดกระบี่
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 เวลา 11.00 น.ที่ห้องพนมเบญจา ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดกระบี่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านตลาดในประเทศ นายนัทที อดิศราลักษณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารหอการค้าจังหวัดกระบี่ นางสาววิชุพรรณ ภูเก้าล้วน ศรีสัญญา นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ และนางสาวอันติกา ศรีรักษา ประธานมูลนิธิกระบี่ยั่งยืน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการจัดการขยะอาหาร และขยะพลาสติก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ของจังหวัดกระบี่ โดยมีนายราชัน มีน้อย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกระบี่ ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ร่วมเป็นสักขีพยาน
การลงนาม MOU ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวทางในการจัดการขยะอาหาร และขยะพลาสติก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ของจังหวัดกระบี่ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี
สำหรับสาระในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว หอการค้าไทยฯ หน่วยงานพันธมิตรในจังหวัดกระบี่ และ ททท. ตกลงกำหนดความร่วมมือดังนี้
(1) สนับสนุนการดำเนินงานของคณะทํางานขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model จังหวัดกระบี่
(2) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการในจังหวัดโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการมีความสามารถ ในการจัดการขยะอาหารและขยะพลาสติก ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
(3) สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือของผู้ประกอบการที่มีการดำเนินงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ภายหลังจากพิธีลงนามฯได้มีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว นำมาซึ่งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ความเหลื่อมล้ำ ภัยแล้ง น้ำท่วม ขยะล้นเมือง และสุดท้ายปัญหาเหล่านี้จะกลับมากระทบต่อธุรกิจ สำหรับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จึงมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
"ผมหวังว่าเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงานนี้ จะยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ด้านสิ่งแวกล้อมในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ก่อให้เป็นผลสำเร็จที่จะเป็นต้นแบบในการขยายความร่วมมือของหอการค้าฯ กับหน่วยงานอื่นต่อไป" ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านตลาดในประเทศ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือนี้จะเป็นการสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวและบริการ นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ และนับเป็นแนวทางที่นานาประเทศต้องร่วมมือกันทำ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างจริงจังและรวดเร็ว ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวโน้มของนักท่องเที่ยวทั่วโลกมีความมุ่งมั่นที่จะใช้บริการการท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืนโดยชุมชนท้องถิ่น
นายนัทที อดิศราลักษณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารหอการค้าจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเรื่อง Andaman Go Green โดยเห็นชอบในหลักการและให้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในฐานะเลขานุการ BCG Model พิจารณารายละเอียด สนับสนุนให้จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่นำร่อง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างต้นแบบขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในกลุ่มจังหวัดอันดามัน การลงนาม MOU ในวันนี้ หอการค้าจังหวัดกระบี่พร้อมที่ร่วมกับทุกภาคส่วน ในการทำงานการขับเคลื่อน การพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดกระบี่ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG อันเป็นวาระแห่งชาติ
นางสาววิชุพรรณ ภูเก้าล้วน ศรีสัญญา นายกสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า
ก่อนหน้าที่จะมีการ MOU ทางสมาคมโรงแรมกระบี่ ได้ร่วมกับหอการค้าไทยและ 8 กลุ่มผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการในจังหวัดกระบี่ อาทิ ผู้ประกอบการโรงแรม,ผู้ประกอบการท่องเที่ยว,ผู้ประกอบการร้านอาหาร,ผู้ประกอบการร้านขายสินค้าและของที่ระลึก,ชุมชนท่องเที่ยว,แหล่งท่องเที่ยว,ส่วนราชการ และองค์กรอิสระ จัด Hybrid Workshop โดยได้ท่าน ดร.ศิริกุล เลากัยกุล หรือ คุณหนุ่ย CEO แห่งบริษัท แบรนด์บีอิ้ง มาช่วยชี้แนะแนวทางการสร้างกิจกรรมที่จะเป็นต้นแบบของจังหวัดกระบี่ ภายใต้แนวคิด Circular Economy โดยได้คัดเลือก 4 Hero Project คือ 1.ร้านอาหารกินเปลี่ยนโลก 2. Zero Waste Hotel 3. Circular Batik และ 4. Saleng Network หลังจากนี้น่าจะได้เห็นภาพการขับเคลื่อนร่วมกันของเครือข่าย ใน 4 กิจกรรมนี้
ด้าน นางสาวอันติกา ศรีรักษา ประธานมูลนิธิกระบี่ยั่งยืน กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาศักยภาพและกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนากระบี่ให้เป็นจังหวัดน่าอยู่ และท่องเที่ยวยั่งยืน MOU นี้จะเป็นแนวทางความร่วมมือหนึ่งที่สำคัญ ที่เราจะสามารถเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้กระบี่เป็นเมืองน่าอยู่น่าเที่ยว และยั่งยืน
#KrabiGoGreen
#KrabiLiveableGreenCity
#กระบี่เมืองน่าอยู่น่าท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
#CircularEconomy
#BCGmodel
#NapHotel